โดรนเพื่อการเกษตร
โดรนเพื่อการเกษตร กำลังมีบทบาทอย่างมากต่อเกษตรกรไทย เนื่องจากสามารถลดการใช้แรงงานคน ประหยัดเวลาในการทำงาน และเพิ่มคุณภาพของผลผลิตมากขึ้น ถือเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ สำหรับเกษตรกรยุคใหม่ ที่อยากทำการเกษตร แต่ก็ไม่อยากลงทุนลงแรงเหมือนกับรุ่นพ่อแม่ เหมือนที่ผ่าน ๆ มาหากใครไม่อยากหลังสู้ฟ้า หน้าสู้ดิน อยากใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยให้การประกอบอาชีพเกษตรกรง่ายขึ้น หรือ ใครอยากจะใช้โดรนเพื่อการเกษตร สำหรับเป็นผู้รับเหมาฉีดพ่นบำรุงรักษาพืชพันธุ์ให้กับเกษตรกร แต่ยังไม่เคยรู้มาก่อนว่า โดรนเพื่อการเกษตร ใช้งานอย่างไร มีแบบไหนบ้าง และมีข้อดีข้อเสียอย่างไร มีข้อมูลมาฝาก รับรองว่า อ่านจบแล้ว จะสามารถเลือกโดรนเพื่อการเกษตรที่เหมาะกับการทำงานของตนเองได้แน่นอน
โดรนเพื่อการเกษตรคืออะไร ?
หลายคนอาจคุ้นเคยกับ โดรน มาบ้าง ในฐานะอากาศยานไร้คนขับ ที่มีจุดประสงค์แรกเริ่มสำหรับใช้ในการทหาร ก่อนที่จะถูกปรับเปลี่ยนให้ใช้งานได้หลากหลายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการถ่ายรูป ถ่ายวิดีโอ สำรวจพื้นที่ ฯลฯ ซึ่งในยุคปัจจุบัน ด้วยความต้องการใช้เทคโนโลยีเพื่อทดแทนแรงงานคนกำลังเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการปรับเปลี่ยนให้โดรน เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในแวดวงต่าง ๆ รวมถึง การเกษตร นั่นจึงเป็นที่มาของการใช้งาน โดรนเพื่อการเกษตร โดยส่วนใหญ่แล้ว โดรนเพื่อการเกษตร นั้น จะใช้งานหลัก ๆ อยู่ 2 แบบ คือ วางแผนการเพาะปลูกและถ่ายภาพแปลงเพาะปลูก เพื่อสังเกตการเจริญเติบโตและอาการผิดปกติของพืช ส่วนอีกแบบหนึ่งคือ การฉีดพ่นปุ๋ยและธาตุอาหารเสริม เพื่อป้องกันศัตรูพืชและบำรุงรักษาให้พืชเจริญงอกงาม
ถ้าซื้อ โดรนเพื่อการเกษตร แล้วจะคุ้มไหมนะ?
ถึงแม้โดรนเพื่อการเกษตร จะสามารถทุ่นแรงได้มาก ประหยัดเวลา ช่วยให้การทำเกษตรง่ายขึ้น แต่ราคาของโดรนในท้องตลาดนั้น ส่วนใหญ่อยู่ที่ราคาหลักหมื่นถึงหลักแสน ซึ่งถือว่าค่อนข้างแพง เมื่อเทียบกับการลงแรงหรือว่าจ้างคนมาทำงานแทนในรูปแบบเดิม ดังนั้น หลายคนอาจมีคำถามในใจว่า ซื้อแล้วจะคุ้มมั้ย เมื่อไหร่จะคุ้มทุน ซึ่งอาจพิจารณาได้จากปัจจัย ดังต่อไปนี้
1. ราคารับจ้างพ่นในแต่ละพื้นที่
เนื่องจากแต่ละพื้นที่ อาจจะมีผู้รับจ้างฉีดพ่นอยู่แล้ว ซึ่งก็มีราคาถูกแพงแตกต่างกันไป การเช็กราคารับจ้างพ่นในแต่ละพื้นที่ ก่อนคิดจะซื้อโดรนเพื่อการเกษตรจึงสำคัญมาก เพื่อให้ตัวเกษตรกรสามารถตัดสินใจได้ว่า เลือกจ้างคนมาพ่นหรือซื้อโดรนมาพ่นเอง อะไรจะคุ้มกว่ากัน โดยถ้ามีปริมาณไร่น้อย ก็อาจจะเลือกจ้างต่อไป เพราะคุ้มกว่า ในทางกลับกัน หากมีปริมาณไร่มาก การเลือกซื้อโดรนก็อาจจะคุ้มกว่า เมื่อเทียบกับการจ้างคน
สำหรับตัวผู้รับเหมาฉีดพ่น การเช็กราคารับจ้างพ่น จะช่วยให้สามารถคำนวณจุดคุ้มทุนได้ ว่าต้องฉีดกี่ไร่ถึงจะคุ้มค่า ยกตัวอย่างเช่น ลงทุนโดรน 250,000 บาท หากรับจ้างฉีดพ่นอยู่ที่ 100 บาท/ไร่ ฉีด 2,500 ไร่ ก็ถึงจุดคุ้มทุนแล้ว แล้วถ้าเกิดต้องบินพ่นเป็นจำนวนถี่ ๆ ต่อไร่ โดยเฉพาะ ข้าว ที่ในรอบปีหนึ่ง จะต้องฉีดพ่นอย่างน้อย 4 ครั้ง ค่าเฉลี่ยก็จะลดลงเหลือแค่ 625 ไร่ เท่านั้น
แต่ถ้าเกิดค่ารับจ้างพ่นน้อยกว่านั้น สมมติว่าเหลือ 60 บาท/ไร่ อันมาจากการแข่งขันสูง หรือมูลค่าการตลาดเฉลี่ย ณ พื้นที่ อยู่ที่เท่านี้ ก็จะต้องรับจ้างฉีดพ่น 4,200 ไร่ ถึงจะคุ้มทุนเลยทีเดียว ดังนั้น การเช็กราคาฉีดพ่น จึงเป็นปัจจัยสำคัญที่ต้องคำนึงถึงเป็นอันดับแรก
2. พื้นที่รับจ้างเป็นอย่างไร
ปัจจัยข้อนี้อาจจะสำคัญกับผู้รับเหมามากกว่าตัวเกษตกรที่ซื้อโดรน ต่อเนื่องมาจากราคารับจ้างฉีดพ่นในแต่ละพื้นที่ เพราะหากลักษณะของพื้นที่นั้น ๆ มีผู้รับจ้างฉีดพ่นโดยใช้โดรนจำนวนมาก ซึ่งจะส่งผลให้มีการแข่งขันสูงและกำไรที่จะได้จากการฉีดพ่นก็จะลดลง จนต้องทำงานเยอะกว่าเดิม ถึงจะจุดคุ้มทุน
หากผู้รับเหมาต้องการใช้โดรนเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ แล้วพื้นที่นั้นมีการแข่งขันสูง อาจจะไม่ต้องไปลดราคาแข่งกับตลาด เพื่อให้ได้งาน แต่ให้คิดราคาที่เหมาะสมกับตนเอง พร้อมนำเสนอรูปแบบของการบริการให้น่าประทับใจ ให้ลูกค้ารู้สึกว่าคุ้มค่า ก็อาจจะช่วยให้สามารถคิดค่าบริการได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยพื้นที่ ให้สามารถถึงจุดคุ้มทุนได้ไว และสร้างกำไรได้ตามที่ต้องการ
โดยวิธีการดึงดูดลูกค้า มี 2 แบบคือ แบบที่ 1 หากเป็นลูกค้าที่ไม่เคยใช้โดรนมาก่อน อาจเลือกสาธิตการใช้งานให้ดู ให้รู้ว่ามีประสิทธิภาพ ทำงานได้ไว และฉีดพ่นละอองได้ดี กว่าการใช้แรงงานคนในแบบเดิม ก็อาจจะช่วยให้ลูกค้าสนใจได้ในทันที แบบที่ 2 คือ ลูกค้าเคยใช้โดรนมาก่อน แล้วมีความกังวลเรื่องราคากับคุณภาพการบริการ ก็อาจจะต้องลองสาธิตให้ดูเหมือนเดิมเช่นกัน ว่าสามารถทำงานคุ้มค่า คุ้มราคา ฉีดพ่นละอองได้แน่น เก็บขอบเก็บมุมแปลง ฉีดได้ทั่วพื้นที่จริง ๆ และตัวคนบินโดรนเองก็มีความเชี่ยวชาญทำงานได้ดี ก็อาจจะช่วยมัดใจลูกค้า ให้ใช้บริการเรา ในเรตราคาที่เราตั้งไว้ได้
3. ราคาของโดรน
ราคาของโดรน จะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับขนาดถัง ระบบเซนเซอร์ และแบตเตอรี่ ซึ่งยิ่งขนาดถังใหญ่เท่าไหร่ ระบบปฏิบัติการเป็นแบบอัจฉริยะหรือไม่ แบตเตอรี่ใช้งานได้อึด ทน ต้องเปลี่ยนบ่อยไหม 3 ปัจจัยนี้ จะส่งผลต่อราคาของโดรนทั้งหมด ซึ่งด้วยความที่มีราคาเริ่มต้นอยู่ที่หลักหมื่นถึงหลักแสน การพิจารณาเลือกซื้อ นอกจากคำนึงถึงเงินในกระเป๋าแล้ว ก็ต้องคำนึงถึงปัจจัยสองอย่างแรกที่กล่าวมา นั่นคือ ราคารับจ้างและลักษณะของพื้นที่รับจ้าง
โดยสำหรับเกษตรกร หากเปรียบเทียบแล้ว พบว่า หากจ้างแล้วต้องเสียเงินเยอะไม่แพ้กัน จำนวนไร่ที่มีอยู่ก็มีจำนวนมาก ซื้อโดรนมาใช้เอง อาจจะคุ้มกว่า ก็อาจจะเลือกซื้อโดรนที่มีขนาดถังเพียงพอต่อการฉีดพ่นภายในพื้นที่ของตนเองก็พอ ในขณะที่หากเป็นสถานะของผู้รับเหมา เมื่อพิจารณาจนรู้แล้วว่า ราคารับจ้าง ลักษณะการแข่งขันในพื้นที่นั้น รับงานแล้วได้ราคาค่อนข้างสูง สามารถคืนทุนได้ไว ก็อาจพิจารณาโดรนที่มีขนาดถังใหญ่ แบตเตอรี่อึดมาใช้งาน ก็อาจจะใช้งานได้คุ้มค่า ใช้งานได้ยาวนานกว่า และรับงานได้วันละหลายงาน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถสร้างกำไรได้รวดเร็วมากขึ้น
สิ่งที่ควรคำนึงก่อนใช้งาน
การใช้งานโดรนเพื่อการเกษตร ในปัจจุบัน ไม่ใช่ว่าจู่ ๆ จะนำขึ้นบินได้เลย หากแต่มีกฎหมายควบคุมอากาศยานไร้คนขับออกมาแล้ว ดังนั้น ก่อนนำโดรนเพื่อการเกษตรขึ้นบินทุกครั้ง แม้ว่าจะอยู่ในพื้นที่โล่งแจ้ง หรือ ตามไร่สวนไร่นาก็ตาม ก็ยังมีสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เช่น
1. อายุของผู้ใช้งาน
หากโดรนนั้น มีน้ำหนักไม่เกิน 2 กิโลกรัม ผู้ใช้งานโดรน ควรมีอายุมากกว่า 18 ปี แต่ถ้าต่ำกว่า 18 ปี จะต้องมีผู้ควบคุมดูแลอยู่ด้วย สำหรับโดรนที่มีน้ำหนักเกิน 2 กิโลกรัมแต่ไม่เกิน 25 กิโลกรัม ผู้ใช้งานต้องมีอายุอย่างน้อย 20 ปี
2. ตรวจสอบสภาพพื้นที่ สภาพภูมิอากาศก่อนทำการบิน
ก่อนนำโดรนขึ้นบิน ควรตรวจสอบสภาพพื้นที่และสภาพภูมิอากาศ ว่าปลอดภัยต่อการนำโดรนขึ้นบินหรือไม่ ไม่ว่าจะเป็นสภาพภูมิประเทศ มีสิ่งกีดขวางหรือไม่ เป็นพื้นที่ที่ได้รับอนุญาตให้นำเครื่องบินหรือเปล่า (ต้องห่างจากบุคคล ยานพาหนะ สิ่งก่อสร้างหรืออาคารในแนวราบ อย่างน้อย 30 – 50 เมตร) สภาพภูมิอากาศ ฝนตกหรือแดดออก เหมาะกับการนำเครื่องบินหรือไม่
3. ช่วงเวลาและระยะการมองเห็น
การบินโดรนเพื่อการเกษตร จะต้องทำในช่วงเวลาพระอาทิตย์ขึ้นถึงพระอาทิตย์ตกเท่านั้น และระยะการบิน ผู้ใช้งานจะต้องอยู่ในระยะที่มองเห็นโดรนได้ตลอดเวลา ห้ามทำการบินโดยอาศัยชุดกล้องบนอากาศยานหรืออุปกรณ์ที่มีลักษณะใกล้เคียงกันเด็ดขาด และห้ามทำการบินโดยใช้ความสูงเกิน 90 เมตรจากพื้นดินด้วย
4. ไม่บินในลักษณะก่อให้เกิดอันตราย
แม้จะเป็นโดรนเพื่อการเกษตร ใช้งานในพื้นที่โล่งแจ้ง ไม่มีคนจำนวนมากอยู่ก็ตาม แต่ก็ควรบินโดรนให้ปลอดภัย ไม่บินในลักษณะที่ก่อให้อันตราย อย่างการบินในแนวฉวัดเฉวียน บินโดยไม่ได้อยู่ในระยะที่มองเห็น อันอาจก่อให้เกิดอันตรายต่อชีวิต ร่างกาย ทรัพย์สินหรือความสงบสุขของผู้อื่น
ข้อดี : โดรนเพื่อการเกษตร
1. ประหยัดเวลา
ช่วยให้การฉีดพ่นป้องกันศัตรูพืช บำรุงพืชพันธุ์ให้เจริญงอกงาม ทำได้รวดเร็ว ประหยัดเวลา ซึ่งถ้ามีจำนวนไร่มาก ก็จะยิ่งประหยัดเวลาได้มาก รวมถึงยังสามารถฉีดพ่นไม้ผลที่อยู่สูง ๆ ตลอดจนลดความเสี่ยงที่จะทำลายพืชผลโดยไม่ได้ตั้งใจ จากการเดินลุยฉีดพ่นด้วยตัวเองได้อีกด้วย
2. ทุ่นแรง ลดค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นได้ในระยะยาว
การฉีดพ่นแบบเดิม ๆ จะต้องเดินลุยไป พร้อมกับแบกถังพ่นไปด้วย ซึ่งทำให้ต้องใช้แรงและกำลังจำนวนมาก บางคนจึงเลือกที่จะจ้างคนมาทำแทน แต่ก็ต้องแลกกับการเสียเงินจำนวนมาก โดยเฉพาะกับพืชพันธุ์ที่จะต้องหมั่นดูแลรักษาอย่างเช่น ข้าว ดังนั้น หากใช้โดรนเพื่อการเกษตรแทน ก็จะทุ่นทั้งแรงงาน รวมถึงค่าใช้จ่ายในการฉีดพ่นระยะยาวได้ โดยเฉพาะสำหรับเกษตรกรที่ต้องฉีดพ่นบำรุงผลผลิตอยู่บ่อย ๆ
3. สามารถทำงานได้เอง
โดรนเพื่อการเกษตรบางรุ่น ยังมีระบบปฏิบัติการแบบอัจฉริยะอีกด้วย ดังนั้น เพียงแค่วาดแปลงพื้นที่ของเรา ให้โดรนจดจำ ไม่ว่าจะด้วยระบบ GPS หรือระบบแผนที่ ที่มีมาในตัวเครื่อง ก็จะทำให้โดรนสามารถบินได้เองอัตโนมัติ ตัวเราไม่ต้องมาควบคุมการบินด้วยตัวเอง ถือว่าล้ำและสะดวกสุด ๆ ไปเลย
ข้อเสีย : โดรนเพื่อการเกษตร
1. ราคาแพง
ด้วยเป็นเครื่องมือที่ทันสมัย และยังไม่เป็นที่แพร่หลายมากนัก ทำให้ โดรนเพื่อการเกษตร ส่วนใหญ่มีราคาแพง โดยเฉลี่ยราคาอยู่ที่ 6x,xxx – 2xx,xxx บาท เลยทีเดียว ดังนั้น หากใครยังมีทุนทรัพย์ไม่เพียงพอ ก็อาจจะต้องรอไปก่อน ไม่แน่ว่าในอนาคต เมื่อมันเป็นที่แพร่หลาย และมีบริษัทแข่งขันกันผลิตและจำหน่ายมากขึ้น ถึงตอนนั้น โดรนเพื่อการเกษตร ก็อาจจะมีราคาถูกลงมากขึ้นก็ได้
2. เปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย
เพราะการขึ้นบินครั้งหนึ่ง ต้องใช้แบตเตอรี่จำนวนมาก อันขึ้นอยู่กับความจุ ความอึด ของแบเตอรี่ รวมถึงขนาดของพื้นที่และเวลาที่ใช้บิน ดังนั้น จึงอาจส่งผลให้ต้องเปลี่ยนแบตเตอรี่บ่อย ๆ ซึ่งแบตเตอรี่สำหรับใช้กับโดรน ก็มีราคาค่อนข้างสูง เกือบ 1x,xxx บาทเลยทีเดียว ดังนั้น หากซื้อโดรนมาใช้งานควรดูคุณภาพของแบตเตอรี่ด้วยว่า ใช้งานได้ดี อึด ทน นานหรือไม่ เพื่อลดต้นทุนในการเปลี่ยนแบตเตอรี่ให้น้อยที่สุด
3. ค่าบำรุงรักษาแพง
หากไม่สำรวจสภาพพื้นที่ให้ดี แล้วไปชนสิ่งกีดขวาง หรือไม่มีความเชี่ยวชาญมากพอ จนทำให้โดรนตกเสียหาย อาจจะต้องเจอกับค่าบำรุงรักษาที่แพงหูฉีกก็ได้ ดังนั้น จึงควรตรวจสภาพพื้นที่ ให้ปลอดภัย ก่อนนำโดรนขึ้นบินทุกครั้ง และฝึกหัดขับโดรนให้เชี่ยวชาญ ไม่บินในลักษณะที่ก่อให้เกิดอันตราย ก็จะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเสียค่าใช้จ่ายส่วนนี้ได้มากขึ้น